วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

(3.1) ลางสาดหวาน - ประวัติ “ลางสาดเมืองลับแล”


ลางสาด

ลางสาดเป็นพืชพื้นเมืองเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดตามหมู่เกาะมาลายู ชวา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  และไทยเป็นต้นซึ่งเป็นเขตที่มีอากาศร้อนและชุ่มชื้นได้รับมรสุม  ฝนตกชุกติดต่อกันเป็นเวลานาน ประมาณ ๑๘๐ – ๒๐๐ วัน เป็นไม้ผลเมืองร้อนที่มีลักษณะเด่นหลายประการ เช่น  มีผลสีเหลืองนวล  ออกเป็นพวงใหญ่ เนื้อของผลมีลักษณะใส รสชาติดีและอยู่ในความนิยมของผู้บริโภค แต่การปลูกลางสาดในประเทศไทยนั้น ขาดการดูแลเอาใจใส่ และปลูกขยายเท่าที่ควร ทำให้ความสำคัญของลางสาดลดลงไปมากทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตและการให้ผล




ชื่อของลางสาด

ลางสาดมีชื่อสามัญเรียกกันหลายชื่อด้วยกัน เช่น  Langsat , Lansa , Lanseh , Lanzame , และ Lanzon คำว่าลางสาดของไทยก็คงจะมาจากคำว่า Langsat  ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากภาษามลายู  ชื่อวิทยาศาสตร์ของลางสาดก็คือ Lonsium domesticum  Corr. เป็นพืชในตระกูล Meliaceae

ประโยชน์ของลางสาด

ลางสาด เป็นผลไม้ที่มีกลิ่นหอม รสชาติดี และยังมีคุณค่าทางอาหารสูง

ส่วนต่าง ๆ ของลางสาดยังมีประโยชน์ในทางยา
- เมล็ด มีรสขม ชาวซาไกนำไปบดและใช้รับประทานรักษาไข้ สำหรับประเทศไทยนั้น เคยทราบว่าใช้รักษาฝีที่เกิดขึ้นในหู
- เปลือกของต้นและเปลือกของผลมีวัตถุเป็นพิษ ซึ่งเรียกว่า กรดแลนเซียม (Lansium) เมื่อฉีดเข้าไปในกบแล้วทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
- เปลือกของผล ขณะเผาจะมีกลิ่นเหม็น ชาวชวาใช้ไล่ยุง

ทำไมลางสาดเมืองลับแลจึงหวานและอร่อย 

 ชาวอุตรดิตถ์ ล้วนแต่ภาคภูมิใจ “ลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัย” ซึ่งปลูกกันที่ลับแลและอำเภอเมือง  กล่าวกันว่า ลางสาดที่นั่นงามไปหมดทั้งช่องาม  ผิวเปลือกสีเหลืองนวล เนื้อในสดใส กลิ่นหอม และรสชาติก็หวานจัด ชวนรับประทานยิ่งนักทางสำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้พิจารณาจากเหตุผลหลายประการแล้ว มีความเห็นว่าลางสาดลับแลอร่อยและหวานกว่าที่อื่นน่าจะมาจากเหตุผลดังนี้

๑. สภาพแวดล้อม เหมาะสมแก่การปลูกลางสาดมาก เนื่องจากมีอากาศร้อน และความชื้นสูงตลอดปี นอกจากนี้บริเวณรอบ ๆ ก็เป็นป่าโดยธรรมชาติ ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง ไม่ถูกทำลายโดยคนหรือฝน

๒. สวนลางสาดที่นี่เป็นลักษณะแบบสวนป่า  คือปลูกแซมในสวนทุเรียน หรือต้นไม้อื่นนอกจากนี้ต้นลางสาดที่ปลูกยังได้จากการเพาะเมล็ดโดยตรง ทำให้ระบบรากหยั่งลึก ดูดน้ำและอาหารได้เต็มที่ ต้นจึงมีความสมบูรณ์ แข็งแรง

๓. ลางสาดที่นี่โดยทั่วไปมีอายุมาก เก่าแก่ มีมานาน บางต้นมีอายุมากถึง ๒๐๐ ปี ผลผลิตที่ได้จึงดีกว่าต้นที่เพิ่งออกผลใหม่ ๆ 

๔. เนื่องจากการปลูกลางสาดในพื้นที่นี้มีพื้นที่จำกัด เกษตรกรเป็นเกษตรกรดั้งเดิมซึ่งสมัยก่อนนั้น ลางสาดราคาไม่แพงและมีผู้ซื้อน้อย ชาวสวนจึงเลือกตัดเฉพาะลางสาดที่แก่จัดเท่านั้นซึ่งลางสาดที่แก่จัดจะมีคุณภาพดีที่สุด รสหวานจัด กลิ่นหอม ปัจจุบันนี้แม้ว่าความต้องการซื้อและราคาจะเปลี่ยนไป  แต่ชาวสวนเก่า ๆ ก็ยังติดนิสัยเดิมที่ว่า จะตัดลางสาดเมื่อแก่จัดเท่านั้น


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น